เพลี้ยไฟกุหลาบ (Thrips)

เพลี้ยไฟกุหลาบ จะเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบกุหลาบทำให้บิดเบี้ยวเป็นคลื่น มีรอยสีน้ำตาล, ดำ และแห้งตาย โดยเพลี้ยไฟมี 2 ชนิด คือ 1. Scirtothrips Hood 2. Thrips coloratus Schmutz

อาการของกุหลาบที่ถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลาย
ลักษณะการทำลาย : ใบกุหลาบจะมีอาการใบบิดเบี้ยวเป็นคลื่น มีรอยสีน้ำตาล, ดำ และแห้งตาย เพลี้ยไฟกุหลาบทั้วตัวอ่อนและตัวแก่ จะดูดกินน้ำเลี้ยงส่วนอ่อนของพืช เช่น ยอดอ่อน, ตา, ดอก ทำให้ดอกมีสีซีดเป็นทางขาวๆ หรือมีสีน้ำตาล ดำ และเหี่ยวแห้ง ทำให้ใบ หงิกงอเป็นคลื่น มีรอยสีน้ำตาล ดำ และแห้งตาล หรือทำให้ดอกและใบบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ดอกไม่บาน ตามปกติทำให้คุณภาพขายไม่ได้ราคา

รูปร่างลักษณะ : เพลี้ยไฟมีขนาดเล็กมาก รูปร่างเรียวยาวตัวอ่อนและตัวเต็มวัยที่มีลักษณะคล้ายกันแต่ตัวอ่อนไม่มีปีก ตัวเมียจะวางไข่ในเนื้อเยื้อพืช จะฟักออกเป็นตัวภายใน 2-3 วัน ตัวอ่อนจะมีสีเหลืองหรือสีฟางข้าว แล้วแต่ชนิด จะเริ่มดูดน้ำเลี้ยงอ่อนของพืช ต่อมา 4-5 วัน จะเข้าดักแด้ไม่เคลื่อนไหว ไม่กินอาหารสังเกตได้โดยหนวดจะหดสั้นชี้ตรงไปข้างหน้า ระยะนี้ใช้เวลา 1-2 วัน ก็เจริญเป็นตัวเต็มวัย มีปีก 2 คู่ ตัวเมียวางไข่โดยไม่ต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้ ทำให้ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว

การแพร่กระจาย : เพลี้ยมีการระบาดรุนแรงมาก ในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง เคลื่อนที่โดยลม ส่วนมากเคลื่อนไหวในเวลากลางวัน ช่วงเวลา 08.00-12.00 น.

การควบคุมและป้องกัน :
1. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ก่อนนำต้นไม้ต้นใหม่เข้ามาใหม่ต้องตรวจดูว่าไม่มีเพลี้ยไฟติดมาด้วยและควรกำจัดเพลี้ยไฟก่อนนำไปปลูกรวมกับต้นอื่นๆ
2. ถ้าเพลี้ยไฟทำลายไม่มากนัก ให้ตัดส่วนที่แมลงทำลายไปเผาทำลาย
3. ใช้สารสกัดจากสะเดา อัตรา 100 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น
4. ใช้กับดักเหนียว อัตรา 80 กับดักต่อไร่
5. ฉีดพ่นด้วยสารเคมีติดต่อกัน4 ครั้ง ช่วงห่างไม่เกิน4 วัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *